ย้อนรอยความเป็นมาของการพนันในประเทศไทย
การพนัน เป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของหลายประเทศบนโลกอีกเช่นกัน ซึ่งในประเทศไทยเองได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงจากบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย จนในปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายเรื่อยมา หลายคนฟังแบบนี้แล้วคงเกิดความสงสัยในใจไม่น้อยว่า ทำไมไทยถึงไม่อนุญาตเหมือนในอดีต และเพราะอะไรที่ทำให้การพนันยังคงผูกพันอยู่กับสังคมไทยตลอดมา ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นมาของการพนันในประเทศไทย เพื่อนำเพื่อน ๆ ย้อนรอยตามประวัติศาสตร์ไปรู้ให้ลึกให้เข้าใจมากกว่านี้กันครับ
การพนันในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?
ในประเทศไทยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดว่า เริ่มต้นการพนันเมื่อไหร่หรือเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามข้อมูลของการกำเนิดไพ่และการกำเนิดการเดิมพันพนันของโลก ได้สันนิษฐานว่าไทยได้รับอิทธิพลต่าง ๆ มาจากประเทศคู่ค้าทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งในด้านของวัฒนธรรมที่ได้รับจากอินเดียอย่างมากนั่นคือเรื่องศาสนาและความเชื่อ เมื่อครั้งสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา
จากนั้นได้พบหลักฐานสำคัญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่อ้างอิงได้ว่าประเทศไทยมีการเล่นพนันอย่างถูกกฎหมาย และได้รับความนิยมอย่างมากในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งปรากฎในบันทึกการเดินทางของเอกอัครราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส ที่มีชื่อว่า มองสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ที่ได้เข้ามายังสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในรัชสมัยพระนารายณ์ เมื่อปี พ.ศ.2230 โดยส่วนหนึ่งของใจความมีดังนี้
“ชาวสยามอยู่ข้างค่อนรักเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนถึงจะยอมผลาญตัวเองให้ฉิบหายได้ ทั้งเสียอิสรภาพความชอบธรรมของตัวหรือลูกเต้าของตัวด้วย ในเมืองนี้ใครไม่มีเงินพอจะใช้เจ้าหนี้ได้ ก็ต้องขายลูกเต้าของตัวเองลงใช้หนี้สิน และถ้าแม้ถึงเช่นนี้แล้วก็ยังมิพอเพียง ตัวของตัวเองก็ต้องกลายตกเป็นทาส การละเล่นพนันที่ไทยรักเป็นที่สุดนั้นก็คือ ติกแตก ชาวสยามเรียกว่า สะกา…”
เกมการพนันของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน
เกมการพนันของไทยในอดีตที่ได้รับความนิยมเริ่มต้นจากการใช้สัตว์ชนิดต่าง ๆ ในการแข่งขัน ซึ่งเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของการเริ่มต้นการพนันในยุคโบราณของหลาย ๆ อาณาจักรบนโลก โดยประเทศไทยมักใช้สัตว์ตั้งแต่ชนิดเล็กจำพวกแมลง ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เช่น ปลา จิ้งหรีด ด้วง ไก่ วัว ควาย ม้า ช้าง เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่าง ๆ ตลอดจนเกมการพนัน เพื่อสร้างความสนุกสนานในการพบปะสร้างมิตรยิ่งขึ้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเริ่มต้นเล่นเกมพนันในบ่อนเมื่อปี พ.ศ.2231 โดยได้มีการอนุญาตจากรัฐและจัดเก็บอากรแผ่นดินอย่างถูกต้อง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ประเทศไทยได้มีการอนุญาต ให้จัดตั้งบ่อนการพนันได้ โดยผู้ที่เปิดจะได้รับ ชื่อบรรดาศักดิ์ว่า “ขุนพันฒสมบัติ” และได้จัดเก็บอากรบ่อนเบี้ยได้มากถึงปีละ 260,000 บาท ต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ปรับเปลี่ยนจำนวนเรียกเก็บอาการบ่อนเบี้ยได้สูงถึงปีละ 500,000 บาท ในที่สุดเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกบ่อนพนัน เนื่องจากทรงเห็นว่าราษฎรมัวเมาในการพนันและเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงของชาติบ้านเมือง ทำให้จำนวนบ่อนพนันลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการประกาศปิดบ่อนพนันทั่วราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2460
ทั้งนี้ยังมีการลักลอบเล่นพนันผิดกฎหมายเรื่อยมา แม้จะมีการประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม ความจำเป็นในการก่อตั้งบ่อนพนันในไทยกลับมาอีกครั้ง เมื่อไทยประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างหนัก ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลสมัย นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการแสวงหาผลกำไรจากความนิยมของกลุ่มพ่อค้าและผู้มีฐานะร่ำรวยในขณะนั้น โดยการเปิดบ่อนการพนัน หรือ คาสิโน ที่อนุญาตให้เฉพาะผู้มีฐานะทางสังคมเข้าเล่นเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการได้ เป็นเหตุให้ผู้คนหลายชนชั้นมีโอกาสเข้าเล่นพนันได้ตามต้องการ ประกอบกับรัฐบาลถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนอย่างหนัก จึงได้มีการประกาศยกเลิกบ่อนพนันดังกล่าว รวมไปถึงการปราบปรามอย่างเข้มงวดอีกครั้ง
ตัวอย่างเกมการพนันที่ได้รับความนิยม
กำตัด
การพนันที่ชาวไทยนิยมเล่นในยุคสมัยกรุงธนบุรี ไปจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรูปแบบการเล่นที่คล้ายกับกำถั่วและโปกำของประเทศจีน โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ย ที่ใช้ได้ทั้งเม็ดมะขาม ถั่ว หรือ วัสดุที่มีลักษณะเป็นเม็ด
ไพ่งาช้าง
ไพ่งาช้าง หรือ ไพ่ป๊อก 15 เป็นเกมการพนันที่ใช้ไพ่ทั้งหมด 54 ใบ (นับรวมกับไพ่โจ๊กเกอร์) โดยรูปแบบการเล่นนั้นจะต้องแจกไพ่คนละ 2 ใบ หากว่าได้แต้ม 11-14 จะถือว่าสูง และหากได้ 15 แต้มพอดีจะเรียกว่าป๊อก และเป็นผู้ชนะทันที หากได้เกิน 15 แต้มจะเรียกว่าตาย